คลิกเพื่อเลือกหมวดหมู่

อุบัติการณ์

ภาวะแขนบวมจากน้ำเหลืองคั่ง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับการรักษามะเร็งเต้านม

โดยพบอุบัติการณ์การเกิดภาวะแขนบวมประมาณ 5.9-56.7% (Torgbenu et al., 2020)

อาการอาจเกิดขึ้นทันทีหลังการรักษาหรือเกิดขึ้นในระยะเวลาใดก็ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อลดภาวะภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ

  1. การรักษาโดยการผ่าตัดร่วมกับการเลาะน้ำเหลืองใต้รักแร้ ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม 4.3 เท่า

  2. การได้รับรังสีรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณรักแร้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแขนบวม 2.7-4.4 เท่า

  3. การติดเชื้อแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมหรือรักแร้ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะแขนบวม

  4. ภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ

    • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ 1.5 – 5.9 เท่า

    • ผู้ที่มีภาวะอ้วนมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ 6.64 เท่า

      (ภาวะน้ำหนักเกิน หมายถึง ค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 25.00-29.99 ก.ก./ตร.เมตร)
      (ภาวะอ้วน   หมายถึง ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ก.ก./ตร.เมตรขึ้นไป)
      การคำนวณดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

 

อาการ

  1. แขนตึง ไม่สุขสบาย ใส่เสื้อผ้าลำบาก/คับ ปวดแขน 

  2. ขยับแขนลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก ข้อไหล่ติด 

  3. ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หนาขึ้น มีปุ่มนูน ผิวหนังไม่เรียบ แขนบวม

 

การแบ่งระยะของการเกิดโรค

ระยะที่ 1 การไหลเวียนน้ำเหลืองมีความผิดปกติ แต่ยังไม่มีอาการให้เห็น

ระยะที่ 2 ภาวะแขนบวมสามารถลดลงเมื่อยกแขนสูง

ระยะที่ 3 ภาวะแขนบวมไม่สามารถลดลงเมื่อยกแขนสูง

ระยะที่ 4 มีแขนบวมมากขึ้น ผิวหนังเปลี่ยนแปลง ผิวหนังไม่เรียบ อาจมีแผลฉีกขาด

การรักษา

การรักษาที่เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบด้วย 

  1. การรักษาทางกายภาพบำบัด

    • การนวดระบายน้ำเหลือง 

    • การพันแขนด้วยผ้ายืดหรือสวมปลอกแขน ดูภาพตัวอย่าง   

    • การบีบแขนด้วยเครื่องบีบแรงลม 

    • การออกกำลังกาย 

    • การดูแลความสะอาดผิวหนัง

    โดยทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพที่ผ่านการอบรมเท่านั้น

  2. การรักษาโดยการผ่าตัด เช่น การดูดไขมันชั้นใต้ผิวหนังเพื่อลดขนาดแขน 

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อลดการเกิดภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม

  1. การดูแลผิวหนังแขนข้างที่ได้รับการตัดเต้านม เช่น
    • การดูแลให้ผิวหนังสะอาดและชุ่มชื้น โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว

    • ทาครีมป้องกันแสงแดดเพื่อป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด

    • ระมัดระวังการเป็นแผล โดยการสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการเกิดแผล ดูภาพตัวอย่าง   

    • หลีกเลี่ยงการทำหัตถการที่ต้องรัดแขนข้างที่ผ่าตัดนาน เช่น การเจาะเลือด วัดความดันโลหิต ดูภาพตัวอย่าง   

    • งดการสักแขนด้านที่ผ่าตัด

    • ไม่ใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่รัดแขนข้างที่ได้รับการผ่าตัด

  2. การออกกำลังกาย 
    • งดการเล่นกีฬาที่ต้องใช้กำลังแขนมากเช่น แบดมินตัน

    • หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่ผ่าตัดยกของที่มีน้ำหนักมากหรือทำกิจกรรมซ้ำ ๆ เช่น ถูบ้าน ซักผ้า ดูภาพตัวอย่าง   

    • พันแขนด้วยผ้ายืดหรือสวมปลอกแขนหรือถุงมือทุกครั้งที่มีการอออกกำลังกาย

    • การบริหารมือ แขน และข้อไหล่เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของน้ำเหลือง

      1. กำ-แบมือ – หลังผ่าตัดหายใจเข้าออกลึกๆ แล้วกำ-แบมือวันละ 5-10 ครั้ง
        ดูภาพตัวอย่าง   

      2. การงอศอก - ยื่นมือทั้งสองข้างให้ตรง กำมือ แล้วงอศอกเข้าหาลำตัวแล้วเหยียดตรงวันละ 5-10 ครั้ง
        ดูภาพตัวอย่าง   

      3. การห่อไหล่ – ห่อไหล่ทั้งสองข้างโน้มไปด้านหน้าและแบะไปด้านหลังวันละ 5-10 ครั้ง
        ดูภาพตัวอย่าง   

      4. การยกไหล่ – ยกไหล่ทั้งสองข้างขึ้น ค้างไว้สักครู่แล้วยกลงพร้อมกัน วันละ 5-10 ครั้ง
        ดูภาพตัวอย่าง   

      5. การยกแขนขึ้นด้านบน – ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นด้านบนเท่าที่ทำได้แล้วยกแขนลงวันละ 5-10 ครั้ง
        ดูภาพตัวอย่าง   

      6. ท่าไต่กำแพง
        1. ยืนหันข้างให้ผนัง - โดยแขนข้างอยู่ทางเดียวกับผนัง วางมือบนผนังแล้วค่อยๆไต่นิ้วขึ้นไปตามผนังให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วนับ 1-5 ก่อนที่จะลดแขนลงมา
          ดูภาพตัวอย่าง   

        2. ยืนหันหน้าเข้าหาผนัง - มือวางทาบผนังแล้วไต่ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆเท่าที่จะทำได้แล้วนับ 1-5 ก่อนลดแขนลงมา
          ดูภาพตัวอย่าง   

      7. การดึงลูกรอก/เชือก
        1. ใช้เชือกคล้องลูกบิดประตู -ใช้มือข้างที่ผ่าตัดจับปลายเชือกแล้วพยายามหมุนแขนให้เป็นวงกลมเท่าที่จะทำได้วันละ 5-10 ครั้ง
          ดูภาพตัวอย่าง   

        2. ใช้ลูกรอกหรือเชือกแขวนบนเพดาน – ใช้มือทั้งสองข้างจับปลายเชือกแล้วดึงเชือกที่คล้องผ่านรอกขึ้น-ลงสลับกัน โดยพยายามให้แขนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้วันละ 5-10 ครั้ง
          ดูภาพตัวอย่าง   

  3. การควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสมัน รสหวานจัด ดูภาพตัวอย่าง   
  4. การสังเกตอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนบวมมากขึ้น ผิวหนังไม่เรียบ ปวด เป็นต้นควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป